วันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์การสมาชิก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วย องค์กรสมาชิก ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้ยับยั้งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ…. โดยมีนายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ
                  โดยสาระสำคัญในการยื่นหนังสือในวันนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องของการตรากฎหมายและหลักการมีส่วนร่วมต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 77 เสียก่อน
โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการหลักการมีส่วนร่วมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ พ.ศ. … มีเจตนามุ่งหมายเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานด้านต่างๆ และการสร้างมาตรฐานให้เป็นสากลแก่ระบบขนส่งทางราง แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับมีบทบัญญัติที่มีความซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กร โดยกำหนดให้ “ให้บรรดาอำนาจ สิทธิและประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้การขนส่งทางราง พ.ศ. ….” เท่ากับว่าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางฯ ที่ออกมาซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่การรถไฟฯ ถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัดอำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ
               สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแล และพัฒนามาตรฐานด้านระบบการขนส่งทางราง เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งที่มีความสำคัญในอนาคต ….แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ฯ แล้ว กลับมีเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งกระบวนการในการตรากฎหมายไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด สร.รฟท.จึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ฯ จนถึงที่สุด และขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณายับยั้งกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้มีความมั่นคง และยั่งยืน เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และ ประชาชนต่อไป

 

By admin

You missed