23 กันยายน 2567 ณ ตึกบัญชาการรถไฟ คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสาขาทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ขอเข้าพบพร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมีข้อเสนอดังนี้
           ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือปฏิบัติตามมาตรการ ข้อสังเกต และตามความเห็นกระทรวงการคลัง ความเห็นตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจโดยเคร่งครัด ซึ่งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ให้มีอัตรากำลังภายในกรอบที่กำหนด โดยภายในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ จะมีพนักงานไม่เกิน ๑๘,๐๑๕ คน และลูกจ้างไม่เกิน ๔,๐๔๖ คน และงดรับพนักงานใหม่ ยกเว้นตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ทั้งนี้จะรับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุนั้น
            การรถไฟฯได้ปฏิบัติตามมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยลดจำนวนพนักงานจาก 20,031 คน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 คงเหลือ 16,540 คน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ หลังจากปี 2545 ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กรกฎาคม 2541 การรับพนักงานใหม่โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวกับด้านการเดินรถ และตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษเช่น พนักงานขับรถ ช่างเครื่อง นายสถานี พนักงานขบวนรถ ช่างซ่อมบำรุง งานด้านโยธา การซ่อมบำรุงทางและระบบอาณัติสัญญานโทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวได้ ต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตีดัง ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ ทำให้การรถไฟฯประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานด้านปฏิบัติการ จนนำมาสู่การเรียกร้องแก้ปัญหาของรัฐบาลในปี 2555 โดยการรถไฟฯได้ดำเนินการขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 เพื่อขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานจำนวน 2,438 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 เมษายน ๒๕55 เห็นชอบการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ตามมมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพื่อให้การรถไฟฯสามารถเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน จำนวน 2,438 คน ทั้งนี้ให้กระทรวงคมนาคม(การรถไฟฯ) รับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นควรให้การรถไฟฯบริหารจัดการเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

           หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน ๒๕55 การรถไฟฯได้ดำเนินการรับพนักงานใหม่เพิ่มตามกรอบที่กำหนด จากปี 2555 จนถึงปี 2561 มีพนักงานเกษียณอายุ /ออกจากงานฐานทำงานนาน /ลาออก / เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติงาน ฯลฯ เฉลี่ยปีละกว่า 600 คน และจากเงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541
ที่ให้รับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ จึงเป็นผลให้การรถไฟประสบกับปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานอีกครั้ง ซึ่งการรถไฟฯได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษากรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจที่จะเพิ่มขึ้นทำเป็นแผนฟื้นฟูกิจการถไฟแห่งประเทศไทยปี ๒๕61 – ๒๕70 (แผนระยะ ๑๐ ปี) โดยเสนอขอเพิ่มตามความจำเป็นต้องการกรอบอัตรากำลังบุคลากรของการรถไฟฯจำนวน ๑๙,๒๔๑ คน ประกอบด้วยพนักงานจำนวน ๑๖,๖๖๐ คน และลูกจ้างจำนวน ๒,๕๘๑ คน โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ให้สามารถรับพนักงานเพิ่มได้เฉพาะในปีแรกของกรอบอัตรากำลังฯ(ปี 2562) จำนวนไม่เกิน 1,904 คน แล้วให้การรถไฟฯนำกรอบอัตรากำลังแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการของการรถไฟตามความเห็นของสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับกรอบอัตรากำลังของการรถไฟฯตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปให้การรถไฟฯดำเนินการให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขอกรอบอัตรากำลังเกินกว่าหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กรกฎาคม 2541 ให้การรถไฟฯนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป (ตามอ้างถึง 3.)
จากกรณีที่การรถไฟฯได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ส่งผลให้ปัจจุบันมีอัตราพนักงาน 8,953 คน และจะมีพนักงานที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2567 จำนวน 291 คน (ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานด้านปฏิบัติการร้อยละ 76.64) คงเหลือพนักงาน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพียง 8,662 คน คิดเป็นร้อยละ 48.08 ของกรอบอัตรากำลังตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ (18,015 อัตรา) และหากการรถไฟฯจะดำเนินการรับพนักงานใหม่ได้ตามเงื่อนที่กำหนดก็จะรับเพิ่มได้ไม่เกิน 15 คน เมื่อพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ภารกิจหลักของการรถไฟฯในปัจจุบันกับการให้บริการประชาชนในการเดินขบวนรถโดยสารจำนวน 250 ขบวน (210/40) และขบวนรถสินค้าจำนวน 211 ขบวน (72/139) รวมทั้งสิ้น 461 ขบวน (ขบวนรถที่เดินทุกวัน/ขบวนรถเดินเมื่อต้องการ) ซึ่งจำเป็นต้องมีพนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง(ด้านการเดินรถ การซ่อมบำรุง และงานโยธา เช่น พนักงานขับรถ ช่างเครื่อง นายสถานี พนักงานขบวนรถ ช่างซ่อมบำรุง งานด้านโยธา การซ่อมบำรุงทางและระบบอาณัติสัญญานโทรคมนาคม) รองรับจำนวนกว่า 6,000 – 7,000 คน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการเดินรถ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และรวมถึงฝ่ายสนับสนุนซึ่งมีความจำเป็นในภารกิจที่รองรับเกี่ยวข้องกับด้านสำนักงาน/สวัสดิการให้กับพนักงาน โดยข้อมูลสถิติอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะมีพนักงานการรถไฟฯเกษียณอายุการทำงาน 3,067 คน (เป็นพนักงานด้านปฏิบัติการร้อยละ 84.51) สามารถรับพนักงานเพิ่มตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรีได้เพียง 153 คน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบจากรัฐบาล
               สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๔๐ (๔) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ กำหนดให้งดรับพนักงานใหม่ยกเว้นตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวได้ ต้องรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รฟท. ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ จนทำให้ขณะนี้การรถไฟฯคงเหลืออัตราพนักงานต่ำกว่าร้อยละ 50 ของอัตราจากกรอบที่ได้รับอนุมัติ แต่ภารกิจหลักในการทำหน้าที่ให้บริการกับประชาชนยังคงอยู่เท่าเดิมและจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเกิดผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรากตรำสะสมเพิ่มมากขึ้น ต้องควงเวรทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ปฏิบัติงานในวันหยุดซึ่งมีผลกระทบต่อการพักผ่อนของพนักงานที่สะสมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในเวลาปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยใน การให้บริการด้านการเดินรถ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการรถไฟฯและทำให้ต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรเพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลา ค่าตอบแทนพิเศษค่ารักษาพยาบาลอันเป็นสาเหตุจากการพักผ่อนไม่เพียงพอเกิดการเจ็บป่วยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบุคลากรในอนาคตอีกด้วยนอกจากนั้น การที่รัฐบาลมีแผนนโยบายการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งภายในประเทศนั้น ซึ่งได้มีการลงทุนในระบบราง โดยมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่จะแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๗๑ และมีการเปิดเดินขบวนรถเพิ่มทั้งเชิงพานิชย์และขบวนรถสินค้าเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางซึ่งจากข้อมูลปัญหาด้านอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟฯกับข้อมูลแผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับแผนนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของการรถไฟฯ ในอนาคตก็ผลกระทบต่อการให้บริการกับประชาชนและอาจจะทำให้แผนนโยบายการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากการให้บริการของการรถไฟฯ ไม่สามารถตอบสนองตามความคาดหวังของรัฐบาลที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ สร.รฟท. ในส่วนกลาง และสาขาส่วนภูมิภาค 9 สาขา ได้มีการประชุมพิจารณาร่วมกันเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯ และข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของการรถไฟฯดังนี้

           ๑.เสนอให้กระทรวงคมนาคมผลักดันเร่งรัดให้การรถไฟฯเพิ่มอัตรากำลังพนักงานให้เป็นไปตามกรอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ หรือข้อมูลตามกรอบอัตราของที่ปรึกษาที่ศึกษากรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจที่จะเพิ่มขึ้นทำเป็นแผนฟื้นฟูกิจการถไฟแห่งประเทศไทยปี ๒๕61 – ๒๕70 (แผนระยะ ๑๐ ปี) ตามความจำเป็นต้องการกรอบอัตรากำลังบุคลากรของการรถไฟฯจำนวน ๑๖,๖๖๐ คน ทั้งนี้ขอให้กระทรวงคมนาคมเสนอขอยกเลิกเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ที่ให้รับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ โดยในระยะเร่งด่วนเพื่อให้มีอัตรากำลังมาทดแทนและสามารถทำงานได้ทันที สร.รฟท.ขอให้มีการบรรจุนักเรียน วรฟ.ที่จบการศึกษาในปี 2566 (วรฟ.รุ่น 63 ) ที่ยังไม่มีอัตรารองรับจำนวน 97 คน และเสนอให้บรรจุลูกจ้างเฉพาะงานที่ทำงานกับการรถไฟฯมานานตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไปในตำแหน่งด้านปฏิบัติการที่ใช้ทักษะ ความชำนาญ โดยวิธีทดสอบความสามารถและประเมินผลการทำงาน

                   ๒. เสนอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดผลักดันการจัดหารถจักร รถพ่วงเพื่อรองรับภารกิจโครงการรถไฟทางคู่ที่จะแล้วเสร็จปี ๒๕๗๑ เนื่องจากรถจักรและรถพ่วงที่ใช้ในปัจจุบันมีการใช้งานมานานมีความเสื่อมสภาพและไม่ปลอดภัย เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการเพิ่มศักยภาพ

                   ๓.ข้อเสนอในเรื่องของการเพิ่มรายได้ของการรถไฟฯเพื่อลดภาระการชดเชยของรัฐบาล เสนอให้เร่งรัดการดำเนินการหารายได้ /จัดเก็บรายได้ ของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ จากการรับมอบสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯไปบริหารสัญญาต่อ การนำที่ดินเปล่าที่การรถไฟฯนำมาให้เช่านำไปเช่าช่วง หรือการพัฒนาที่ดินเปล่าขนาดใหญ่ร่วมกับเอกชน ได้การรถไฟฯส่งมอบให้บริษัท SRTA แล้ว รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องการค้างค่าใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร ของกรุงเทพมหานคร โดยเสนอให้การรถไฟฯกลับมาดำเนินการเองโดยบริษัท SRTA

                 4.ข้อเสนอในเรื่องการปรับเพิ่มเงินสวัสดิการพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษเพิ่มเติมให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีสำนักงานอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยแต่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดในการพิจารณาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

              ทั้งนี้ทางรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับหนังสือและชึ้แจงประเด็น ทั้งนี้ได้มีผู้แทนนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 63 ซึ่งจบการศึกษาไปแล้วแต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานเนื่องจากไม่มีอัตรากำลังรองรับได้เข้าชี้แจงข้อมูลและผลกระทบ ความเดือดร้อนที่ยังไม่มีงานทำอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือยื่นรัฐมนตรีคมนาคมได้ที่นี้

รายงานโดยทีมข่าวประชาสัมพันธ์ สร.รฟท.

 

By admin

You missed