วันที่ 7 ตุลาคม 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่าสากล 2567 (World Day for Decent Work 2024) จัดโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)
หลักการความเป็นมาของวันวันงานที่มีคุณค่าสากล 2567 (World Day for Decent Work 2024)
วันที่ ๗ ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (World Day for Decent Work) ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ ๘๗ พ.ศ.๒๕๔๗ ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงาน ที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้
๑.การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income)
๒.การมีสิทธิ (Rights)
๓.การได้แสดงออก (Voice)
๔.การได้รับการยอมรับ(Recognition)
๕.ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability)
๖.การได้พัฒนาตนเอง (Personal development)
๗.การได้รับความยุติธรรม (Fairness)
๘.การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดหลักการที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานได้ทำงานที่มีคุณค่าไว้ ๔ ประการ อันประกอบด้วย
๑.หลักการและสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และการยอมรับความตกลงร่วมกันในด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เลิกการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และการขจัดการใช้แรงงานเด็ก
๒.เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการเพิ่มรายได้
๓.การสร้างภูมิคุ้มกัน
๔.การส่งเสริมการเจรจาและไตรภาคี
ประเทศไทยกับงานที่มีคุณค่า
ประเทศไทยแม้จะเป็นหนึ่งใน ๔๕ ประเทศสมาชิก ที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่างๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแทบจะไม่มีการพัฒนาการที่จะเป็นหลักประกันแก่คนงาน ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกเอาเปรียบ ถูกขูดรีดจนแทบไม่มีหลักประกันใดๆ หากนำเอาหลักการของอนุสัญญาฉบับต่างๆ และหลักการเรื่องงานที่มีคุณค่ามาตรวจสอบ ก็จะพบได้ทันทีและ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยแทบจะไม่พบความก้าวหน้าอันใดเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นได้จากความพยายามของคนงานในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ไม่ได้รับการคุ้มครอง จนทำให้การเจรจาข้อเรียกร้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี และเมื่อตกลงกันแล้วนายจ้างก็ยังละเมิดต่อข้อตกลง และที่รุนแรงคือการละเมิดต่อกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่ กลไกรัฐ กลับไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนงานกับนายจ้าง บางครั้งบางกรณี มีการข่มขู่คนงาน เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายนายจ้าง ในขณะที่การจ้างงานในทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งในหน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน มีการจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้างงานระยะสั้น รับค่าจ้างรายวัน ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีหลักประกันทางสังคม ไม่มีหลักประกันในการดำเนินชีวิต การจ้างงานดังกล่าวคนงานไม่อาจวางแผนชีวิตในอนาคตได้เลย และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ มีข้อยกเว้นของกฎหมายไม่ให้คนเหล่านี้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในส่วนของการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจก็ไม่มีความแตกต่าง แม้ว่าวัตถุประสงค์แต่แรกของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างงานบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในชาติ แต่ปัจจุบันผู้มีอำนาจ นักการเมืองกลับถูกครอบงำทางความคิดด้วยทุนนิยมเสรีใหม่ กำหนดนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ ส่วนที่ยังคงสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจก็บังคับให้ต้องแสวงหากำไร ลดต้นทุน ลดรายจ่าย จำกัดอัตรากำลังแรงงานด้วยการไม่รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่เกษียณอายุ การปฏิบัติงาน แต่ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงาน Outsourcing ผ่านการจ้างแรงงานรับเหมาช่วง การจ้าง ทำของ รวมทั้งการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น คนเหล่านี้ จะไม่ได้รับสวัสดิการค่าจ้าง เฉกเช่นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป แม้ว่าจะต้องทำงานที่มีลักษณะงานที่ไม่มีความแตกต่างกันเลย ซึ่งการให้เอกชน เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐด้วยการให้สัมปทาน การร่วมลงทุนแล้วให้เอกชนบริหารนั้นที่สุดแล้วรัฐไม่อาจควบคุมราคาได้ การให้บริการจึงมีราคาแพง เป็นการเพิ่มรายจ่าย เพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ในขณะที่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานที่แถลงไว้ต่อสาธารณะจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ ผ่านมารัฐบาลกลับบิดเบือนไม่ทำตามสัญญา ในขณะที่แรงงานนอกระบบ ทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิตและภาคบริการ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระรับจ้างทั่วไป คนทำงานในรูปแบบการจ้างงานแบบแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) ก็ยังคงต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อเอาชีวิตรอดจากภาวะทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่ไม่ยุติธรรม อีกทั้งปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เป็นกระแสในสังคมปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จากการเอาเปรียบ ขูดรีด จนถึงวันนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมาย ดำเนินการทางนโยบาย แต่ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะด้วยปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมาเป็นเวลานาน การหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติจากขบวนการนายหน้า ค้ามนุษย์ และกลไกรัฐ ราชการที่เอื้อต่อการหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการ “งานที่มีคุณค่า” ที่สำคัญต้องมีหลักประกันให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการนั้นได้จริง โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานให้สามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กร และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ คือ ต้องใช้กลไกของคนงาน คือ สหภาพแรงงาน ร่วมดำเนินการในทุกมิติ เพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเบาบางลงซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากนานาชาติและนั่นหมายถึง บทบาทของไทยในเวทีโลก
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้จัดกิจกรรมวันงาน ที่มีคุณค่า (Decent Work) ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่สะสม หมักหมมมาหลายสิบปีและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นซึ่งหากไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทยในเวทีโลก ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยประกาศแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามแผนงานของสหประชาชาติ ๑๗ ด้าน (Sustainable development goals : SDGs) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๕ ถึง ค.ศ.๒๐๓๐ ที่จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรมและครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความ เท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง ปกป้องโลกด้วยการรักษาความสมดุล ทางธรรมชาติ รักษาสภาพแวดล้อมของโลกลดการปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนสร้างสังคม ให้ประชาชนได้รับอากาศสะอาด บริสุทธิ์ สิ่งที่กล่าวมานั้นยากที่จะบรรลุสู่เป้าหมายได้หากรัฐบาลปล่อย ให้คนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือ ผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่างๆ มีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ตกต่ำ มีแต่ความเหลื่อมล้ำ ไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต นโยบายที่แถลงไว้ก็ไม่อาจเป็นจริงได้ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗ แม้ว่าไม่มีนโยบายใดๆ ที่เด่นชัดด้านแรงงาน แต่ตอนหนึ่งในคำแถลงนโยบายยอมรับว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมืองทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพสร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิ (Empowerment) เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหา ที่รุมเร้าและทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”
วันงานที่มีคุณค่าสากล ประจำปี ๒๕๖๗ สสรท.และ สรส.จึงมีข้อเสนอ ต่อรัฐบาล ดังนี้
๑. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ราคาสิ่งของเครื่องใช้ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก คือ “ข้าวของแพง แต่ ค่าแรงไม่ปรับ”กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าและให้ สถานประกอบการทุกแห่งจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่คนทำงาน “เฉพาะหน้าขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างในอัตรา ๔๐๐ บาทเท่ากันทั้งประเทศ”ตามที่ได้แถลงไว้พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงอันจะเป็นภาระแก่ประชาชน
๒. รัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้น เช่น เหมางาน เหมาค่าแรง การจ้างงานตามสัญญาจ้าง โดยวางนโยบาย ออกกฎหมาย ให้มีการจ้างงานที่มั่นคง จ้างงานระยะยาวจนถึงวันเกษียณ หรือวันที่ออกจากงาน มีหลักประกันเรื่องค่าจ้างและรายได้ รวมถึงหลักประกันทางสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีของคนงาน ครอบครัว และสังคม
๓. ให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๘๗ ค.ศ.๑๙๔๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ ๙๘ ค.ศ.๑๙๔๙ ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม เหตุเพราะอนุสัญญา ทั้ง ๒ ฉบับ เป็นหลักการอันสำคัญให้แก่คนงานในการจัดตั้งองค์กรของตนเองและสร้างอำนาจการต่อรองอันจะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกัน ในการทำงาน และคุณภาพชีวิตของคนงาน
๔. รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบริษัทลูก การให้สัมปทาน การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในกิจการพลังงาน การขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และนำรัฐวิสาหกิจที่แปรรูป ไปแล้วกลับคืนมาเป็นของรัฐมีรูปแบบการบริหารจัดการโดยรัฐ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการสาธารณะที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
๕. รัฐบาลต้องจริงจังกับนโยบายความปลอดภัยสาธารณะ ความปลอดภัยในการทำงาน สถานประกอบการ นิคมอุตสาหกรรม ต้องมีมาตรการและกลไกในการปฏิบัติงาน ควบคุม กำกับดูแล ไม่ปล่อยให้ประชาชน ชุมชน ต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ เป็นโศกนาฏกรรมที่พบเห็นกันเป็นประจำทุกวัน