วันที่ 24 มกราคม 2565 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรึฐบาล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯเข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศและให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาควบคุมสินค้าไม่ให้ขึ้นราตา
แถลงการณ์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
เรื่อง สินค้าราคาแพง ขอปรับค่าแรง และให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า
ตามที่ได้รับทราบโดยทั่วกัน ในสถานการณ์ปัจจุบันว่าราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ได้ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ของพี่น้องคนงานและประชาชนทุกสาขาอาชีพ หมู ไก่ ไข่ เนื้อ ข้าวสาร น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าทางด่วน และอื่นๆ เกือบทุกรายการ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีนโยบายสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน ปรับวิธีการทำงานโดยพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนมาก ทำงานที่บ้าน (Work from Home) และให้นักเรียนนักศึกษาเรียนออนไลน์ ทำให้ภาระทั้งหมดไปตกที่ประชาชน ครอบครัว ทำให้ต้องแบกรับภาระ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก บางส่วนก็ถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ อยู่ในภาวะที่เดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้าทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาช่วยเหลือแต่ก็เป็นเพียง ระยะสั้นๆ เกษตรกรราย ย่อยเองก็ต้องเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งราคาผลผลิตเองที่พอจะผลิตขายเลี้ยงชีพได้ราคาก็ตกต่ำโดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก ความหวังเดียวที่เหลืออยู่ คือรอเงินจากสามี ภรรยา ลูก หลาน ที่เข้ามาทำงานขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และบริการ แต่ทว่าค่าจ้างแรงงานที่ราคาต่ำ การทำงานระยะสั้น ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไร้หลักประกัน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ จึงไม่สามารถจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวได้เพียงพอ นี่คือความเป็นจริงในชีวิตลูกจ้างคนทำงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงได้ยื่นข้อเสนอให้แก่รัฐบาลแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่ครอบคลุมในเรื่อง ให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป สร้างหลักประกันการทำงาน ความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน มาตรการประกันสังคมที่เป็นธรรมแก่คนทำงาน ให้ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้รัฐบาลวางนโยบายในการจ้างงาน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดได้ ซึ่งประชาชน สื่อมวลชน ก็ต่างรับรู้ทั่วกันดังที่ปรากฏเป็นข่าวทุกวันจนเป็นคำกล่าวว่า “ข้าวของแพงแต่ค่าแรงแสนจะต่ำ” เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นข้อเสนอที่จำเป็นต้องทำ คือ การขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยค่าจ้างที่เสนอในปีนี้เป็นตัวเลขและข้อมูลที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำการสำรวจจากคนงานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 492 บาท แต่หากจะให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาทต่อวัน ซึ่งข้อมูลตัวเลขที่กล่าวมาเป็นของปี 2560 แต่ด้วยข้อกังวลในเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ คสรท. และ สรส. จึงได้ประชุมร่วมกัน และเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในราคาวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศและให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ แม้ว่าการเสนอการปรับค่าจ้างอาจจะทำให้เกิดข้อวิตกกังวลจากภาคส่วนธุรกิจแต่การปรับค่าจ้างก็ไม่ได้มีกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดังที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาได้วิจัยจนได้รับรางวัลโนเบล และการปรับค่าจ้างจะเป็นการสร้างรายได้ สร้างกำลังซื้อ สร้างกำลังการผลิต เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายนำไปเป็นงบประมาณพัฒนาประเทศได้ นั้นหมายถึง ผลดีที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายจึงเป็นเหตุผลสมควร “ปรับค่าจ้าง 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม”
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
24 มกราคม 2565
ประมวลภาพกิจกรรม